มรส. เตรียมตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ “เห็นปัญหาของชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ”…พร้อมยื่นมือช่วยเหลือเกื้อกูล

มรส. เตรียมตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ( มรส. ) เป็นศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ สร้างความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ สนับสนุนให้ชุมชนมีความเข็มแข็งป้องกันสิทธิของตนและชุมชนได้ โดยใช้วันรพี ( ๗ สิงหาคม ) เป็นวันเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ อย่างเป็นทางการ ณ อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ผศ.สมทรง นุ่มนวล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นทำหน้าที่ในฐานะคนของพระราชา ต้องทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ว่าแสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาสากล ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน ช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนผู้นำศาสนาและนักการเมืองท้องถิ่นให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตยคุณธรรมจริยธรรม ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ศึกษาวิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงพร้อมที่จะเติมเต็มและยื่นมือให้ความช่วยเหลือความเป็นธรรมแก่สังคมทุกรูปแบบ

ด้านนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตระหนักว่าสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางที่จะสร้างและสนับสนุนข้อมูล ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข็มแข็งสามารถป้องกันสิทธิของตนเองและชุมชนได้ และได้มีมติในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคเหนือ ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคกลาง ( รวมภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ) ณ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ภาคใต้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยศูนย์ดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ “คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่น” ได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์

สำหรับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านมนุษยชน ภาคใต้ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งตรงกับ “วันรพี” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ และทรงวางระบบแบบแผนศาลยุติธรรม รวมถึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ ยิ่งแก่ประเทศชาติ โดยศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ มีบทบาทหน้าที่ ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาต่อไป ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นในพื้นที่ เป็นศูนย์รวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ศึกษาวิจัย เพื่อแกไขปัญหาสิทธิมนุษยชนชน ส่งเสริมกิจกรรมและระดมพลังภาคีเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน
กนกรัตน์ ศรียาภัย นักประชาสัมพันธ์ / ข่าว
นายสมยศ นุ่นจำนงค์ พนักงานห้องปฏิบัติการ / ภาพ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี