บทบรรณาธิการ
วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น ฉบับนี้เป็นปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กองบรรณาธิการได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ออกตรงเวลา ซึ่งในที่สุดก็สามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี หน้าปกของวารสารเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน อีกทั้งเพื่อน้อมรำลึกถึงการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะตลอดระยะเวลายาวนาน 70 ปี ที่ทรงครองสิริราชย์สมบัติ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนชาวไทยและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทุกหมู่เหล่า นอกจากตระหนักดังกล่าวแล้ว ผู้จัดทำวารสารฉบับนี้ ได้น้อมนำพระราชดำรัสและพระราชคุณธรรมจรรยามาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในส่วนตนและการดำเนินงานวารสารด้วย โดยมีจุดหมายปลายทางที่หนักแน่น มั่นคง คือ ความก้าวหน้าทางวิชาการ และการใช้ประโยชน์จากผลงานให้เกิดความสุขของสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต
ด้านความก้าวหน้าทางวิชาการ มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ ทั้งบทความวิชาการทั่วไปและบทความวิจัย โดยเฉพาะประเด็นของศาสตร์แห่งกฎหมายและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งในจังหวัด สุราษฎร์ธานี และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ โดยสิ่งที่นำเสนอนั้น จักเป็นเงาสะท้อนให้หลายฝ่ายซึ่งดูแลประเทศ ได้นำไปใช้ทบทวนการทำงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง เห็นถึงแก่นแท้อันเป็นปมแห่งอุปสรรค เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ถูกต้องตรงจุด ทำให้ปัญหาต่าง ๆ จะได้คลี่คลายลง ซึ่งสอดคล้องกับสุภาษิตกฎหมายบทหนึ่งที่ว่า “ประโยชน์สุขของประชาชนย่อมเป็นกฎหมายสูงสุด” อันเป็นหลักที่เตือนใจให้บุคลากรในองค์กรพึงเคารพและปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎหมาย ด้วยการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เป็นที่ตั้ง ไม่พยายามบิดเบือนหรือตีความเพื่อแก้ไข กฎ กติกาให้เข้าข้างตนเองโดยหวังประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องจนกลายเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่หมู่คณะและสาธารณชน ซึ่งหากหน่วยงานใดมีบุคคลใช้อำนาจ ที่รัฐมอบให้เช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความแตกแยกสามัคคีและความไม่สงบสุขของสังคม ที่สำคัญยิ่ง คือ องค์กรนั้นไม่อาจขับเคลื่อนองคาพยพให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ลักษณะเช่นที่ว่านี้ ทำให้ระลึกถึงคำกล่าวของรักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี (รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร) เมื่อคราวที่ท่านมาเยี่ยมเยือนคณะนิติศาสตร์ ตอนหนึ่งของโอวาทที่ท่านให้แก่บุคลากรในวันนั้น ว่า “ต้นไม้ตายแต่นกกาอ้วนพี” เป็นสิ่งเตือนใจมิให้ชาวนิติศาสตร์ลุ่มหลง ในประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกจนลืมนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะถ้าองค์กร มีแต่บุคลากรที่แสวงหาเพียงอามิส ลุ่มหลง มัวเมาในลาภยศ สรรเสริญ หรือลุต่อการใช้อำนาจ ขาดเมตตาธรรม องค์กรก็ย่อมล่มสลาย
บทความที่เผยแพร่ในวารสารฉบับนี้ ประกอบด้วยบทความวิจัย 4 เรื่อง บทความวิชาการ 3 เรื่อง และบทปริทัศน์หนังสือ 1 เรื่อง ซึ่งมีสาระหลากหลาย ทั้งด้านเนื้อหา แนวคิด และการโต้แย้งปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่รอการแก้ไขจากรัฐ รวมทั้งปัญหาสังคมในท้องถิ่นตลอดถึงหลักการดำเนินชีวิตที่เข้มแข็งของมนุษย์
บทความวิชาการเรื่อง ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้กล่าวถึง บทบาทของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นระบบรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 นั้น ปรากฏว่า บางมาตรามีประเด็นเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล ในขณะที่บทความวิจัย เรื่อง การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กรณีศึกษา อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า อัตรากำลังของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีไม่เพียงพอ และปัญหาที่เกี่ยวอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่มีไม่ครบถ้วน ตลอดถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง และบทความวิจัยเรื่อง การนำหลักสุจริตมาใช้กับการให้ความเห็นทางกฎหมายภาษีอากรของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้เสนอแนวทางให้นำหลักเกณฑ์ของหลักสุจริตมาใช้ในการให้ความเห็นทางกฎหมายภาษีอากรของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อความเหมาะสมและเป็นธรรม
ในส่วนของบทความที่กล่าวถึงปัญหา ได้แก่ บทความวิชาการ เรื่อง ปัญหาการดำเนินคดีอาญา นายจ้างตามมาตรา 124/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กล่าวถึง ปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กรณีนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ลูกจ้างที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าเสียเปรียบและหาแนวทางเพื่อการแก้ไขที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อไป ส่วนบทความวิจัยเรื่อง ปัญหาผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550: ศึกษากรณีการรับโทษตามกฎหมายอื่นได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหา ผู้กระทำความรุนแรงแก่บุคคลในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง จึงต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายเพื่อนำไปบังคับ ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบทความวิจัยเรื่อง รูปแบบการค้าประเวณีในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ได้ตีแผ่รูปแบบการค้าประเวณีในพื้นที่ของจังหวัดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าประเวณีที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น หากปัญหาเหล่านี้ลุกลามจนหาทางแก้ไขเยียวยาไม่ได้ และทุกฝ่ายต่างยอมรับกับความพ่ายแพ้ ต่อไปอนาคตของเด็กและเยาวชนอันเป็นกำลังหลักของประเทศชาติ และวัฒนธรรมไทยอันดีงามที่บรรพบุรุษร่วมปลูกฝังกันมา คงจะสูญหาย ปพร้อม ๆ กัน
สำหรับบทความวิชาการเรื่อง เทคนิคการเขียนตอบข้อสอบวิชากฎหมายเขียนตอบอย่างไรให้ได้คะแนน ผู้เขียนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการสอบแข่งขันในชั้นเนติบัณฑิตและสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ซึ่งได้รับความสำเร็จมาถ่ายทอดโดยมุ่งหวังให้นิสิต นักศึกษากฎหมายได้เรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ปิดท้ายเล่มด้วยบทปริทัศน์หนังสือเรื่อง ทางสู้ในชีวิตผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ ได้บอกเล่าเรื่องราวถึงการต่อสู้ของชีวิตที่อาจจะล้มเหลวหรือสำเร็จ ลงได้ ด้วยการนำตัวอย่างชีวิตการต่อสู้ของบุคคลในโลกตะวันตกและเอเชีย มากล่าวถึงอย่างน่าสนใจ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในยามที่เกิดความท้อแท้สิ้นหวังและเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคนที่ต่อสู้และใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ให้ได้ อย่างมีความหวัง หน้าที่ของพลเมืองในชาติอาจจะปฏิบัติแตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาชาติให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน ได้ทำหน้าที่บอกกล่าวเพื่อหวังให้กฎหมายได้บังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม ควบคู่ไปกับการทำให้สังคมที่ไม่รู้กฎหมาย สามารถรู้และเข้าใจกฎหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมบางส่วนไม่รู้ ไม่เข้าใจกฎหมาย และไม่อาจยกเอาความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวได้ และเห็นความจำเป็นต่อการเรียนรู้เรื่องนี้ ดังนั้น หน้าที่ทั้งสองประการจึงต้องปฏิบัติไปพร้อมกัน เพื่อให้สังคมได้บรรลุเป้าหมาย คือ การอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขอย่างแท้จริง
ภูภณัช รัตนชัย
ที่มา https://so04.tci-thaijo.org/index.php/llsj/issue/view/12072