ม.ราชภัฎสุราษฎร์ธานี จับมือ ม.ราชภัฎยะลา ลงนาม MOU. ผลิตนักนิติศาสตร์ระดับมหาบัณฑิต (ป.โท)

วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี #จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี กับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องฝึกทักษะนักกฎหมายภาคปฏิบัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นผู้แทนลงนาม และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพชร ขวัญใจสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรดารมย์ รัตนวุฒิ ประธานหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณทิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพร สุนทรนนท์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อาจารย์ฐานนท์ มณีนิล ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และผู้บริหาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี คณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมเป็นสักขีพยาน
🌟บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(Mou.)ทางวิชาการได้ตกลงทำความร่วมมือทางวิชาการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ดังนี้
✅เพื่อผลิตบัณฑิตระดับ “นิติศาสตรมหาบัณฑิต”
✅เพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์บุคลาการ และนักศึกษาระหว่างหน่วยงานทั้งสอง
✅เพื่อสนับสนุนสิ่งเรียนรู้ที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร นิติศาสตรมหาบัณฑิต
✅เพื่อการวิจัยในทางนิติศาสตร์และการวิจัยในเชิงพื้นที่
✨ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อผลิตบัณฑิตระดับนิติศาสตรมหาบัณฑิตระหว่างสองมหาวิทยาลัย ทำให้ตนเองนึกถึงตอนเสนอตัวเข้ามาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ได้เสนอ (วิสัยทัศน์) ต่อสภามหาวิทยาลัย เรื่อง Life long Learning และวันนี้สามารถบันทึกไว้ได้เลยว่า Life long Learning ได้เกิดขึ้นแล้ว ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี
✨ผู้ช่วยศาสตราจารย์เพชร ขวัญใจสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าคณะนิติศาสตร์ ได้กำหนดอัตลักษณ์ให้เป็นนักนิติศาสตร์ที่มีทักษะเป็นวิศวกรสังคม โดยยึดหลัก LAW SRU model คือจะปลูกฝังจิตสำนึกในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบมุ่งไปสู่ความเป็นสากล การที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อผลิตบัณฑิตระดับนิติศาสตรมหาบัณฑิตในครั้งนี้ ในอนาคตจะมีบัณฑิตนิติศาสตร์ในระดับมหาบัณฑิต ที่มีคุณลักษณะ มีทักษะ ที่สามารถนำองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้